ตามควาย : การเดินเร็วๆ โบราณเรียกว่า เดินตามควาย ทำไมไม่เรียกว่าเดินตามช้างหรือเดินตามวัว เพราะเมืองไทยมีควายมาก ขโมยควายก็มีมาก ทำให้ชาวบ้านต้องออกตามควายที่หายไป จึงต้องเดินเร็วๆ ตามควาย
ซื้อควายหน้านา ซื้อผ้าหน้าตรุษ :“ซื้อควายหน้านา ซื้อผ้าหน้าหนาว”
การไปซื้อข้าวของในตอนที่ใครๆ ก็ต้องการใช้ ของนั้นจึงมีราคาแพง เหมือนกับการซื้อควายหน้านา หรือซื้อเสื้อผ้าใส่สวยงามในเทศกาลวันตรุษสงกรานต์ ซึ่งความต้องการการซื้อก็สูงกว่าปกติ และความหมายที่ลึกไปกว่านั้นก็คือ แสดงให้เห็นถึงการขาดความรอบคอบและขาดการเตรียมตัวที่ดี บางสำนวนว่า
ฆ่าควายเสียดายพริก : หมายความว่า จะทำการใหญ่โต แต่กลัวหมดเปลือง งานเลยเสีย หรือไม่ก็ไม่กล้าทำไปเลย มาจากชาวบ้านที่อุตส่าห์ลงทุนล้มควายเลี้ยงกันในหมู่บ้าน แทนที่จะปรุงอาหารได้รสแซ่บๆ ก็ไม่ยอมเสียเงินอีกเล็กน้อยเพื่อซื้อพริกมาปรุงอาหาร บางสำนวนว่า “ฆ่าควายเสียดายเกลือ”
ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก : เรื่องยุ่งยากเรื่องหนึ่งยังไม่ยุติ ก็มีเรื่องใหม่เข้ามาอีก
มากขี้ควาย หลายขี้ช้าง : มากมายเสียเปล่า ใช้ประโยชน์ไม่ได้ ใครเคยเห็นขี้ช้างหรือขี้ควายก็คงรู้ว่ามันมากมายขนาดไหน แต่สำนวนนี้คงไม่ค่อยถูกต้องนัก เพราะขี้ควายเองก็มีประโยชน์ สามารถใช้ทำปุ๋ยได้
สีซอให้ควายฟัง : แนะนำคนโง่ไม่มีประโยชน์
เสี้ยมเขาควายให้ชนกัน : ยุยงให้ทะเลาะกัน
เขียดน้อยในรอยตีนควาย : โง่ ไม่รู้กว้างขวาง
ควายขวิดอย่าขวาง : อย่าเข้าขวาง เหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดรุนแรง
ควายเขาเกก คนตาเอก : คนเกเร คบไม่ได้
ซื้อควายในหนอง : ทำอะไรไม่รอบคอบ
ตกอยู่ในระหว่างเขาควาย : ตกอยู่ท่ามกลางอันตราย
พ่อตาเลี้ยงควาย แม่ยายเลี้ยงลูก : มีครอบครัว แล้วได้ผู้ใหญ่ช่วยเหลืออุปการะ
มีเมียเด็ก ใช้ควายเล็ก ไถนาดอน สอนคนแก่ : สิ่งที่ทำยากลำบากใจและไม่ใคร่ได้ผล
รักเมียเสียนาย รักควายเสียสวน : ได้อย่าง เสียอย่าง
เลี้ยงเป็ดกินไข่ เลี้ยงควายใช้งาน : เลี้ยงหรือลงทุนไว้ หวังเอาประโยชน์
ไม้หลักปักขี้ควาย : โลเลเชื่อถือไม่ได้
หญ้างาม น้ำใส ควายอยู่ : ที่อุดมสมบูรณ์ร่มเย็น ใครก็ชอบ
อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น : พึ่งพาอาศัยใคร ก็ทำตัวให้เป็นประโยชน์ แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม